Translate

วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ภาพรวมแฟรนไชส์ในประเทศไทย

               แฟรนไชส์ได้เริ่มเข้ามาในประเทศไทย 20 กว่าปีมาแล้ว ในช่วงแรกยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร มีการชะลอตัวในช่วงวิกฤตทางเศรษฐกิจ และเริ่มพัฒนาในช่วงที่ภาครัฐมีนโยบายให้การส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็ก หรือ SMEs
                ระบบธุรกิจแฟรนไชส์เป็นระบบการทำงานที่รวมเอากลยุทธ์ข้อได้เปรียบจากการรวมตัวสร้างเป็นกำลังขององค์กรเล็กๆ มารวมกัน ถึงแม้ว่าเป็นธรรมชาติที่มีโอกาสล้มเหลวได้เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ แต่ถ้าเมื่อใดมีการพัฒนาจนอยู่ในระดับที่ดีเพียงพอ ธุรกิจก็จะสามารถยืนยาวได้มากกว่าธุรกิจอื่นๆ    การสร้างธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์หรือการลงทุนในระบบแฟรนไชส์นั้น ต่างต้องมีความเข้าใจเพียงพอ เมื่อเข้าใจแล้วก็จะสามารถป้องกันข้อผิดพลาดที่ไม่ควรเกิด
                ถึงแม้ว่าธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยที่มีการริเริ่มมากว่า 20 ปี ตั้งแต่ปี 2526 ในขณะนั้นต้องยอมรับว่าระบบแฟรนไชส์ของคนไทยมีการเติบโตช้า ธุรกิจแรกๆ ที่พยายามผลักดันการขยายงานโดยใช้รูปแบบแฟรนไชส์คือ ร้านค้าแบบมินิมาร์ทและธุรกิจด้านอาหาร ระบบแฟรนไชส์ในช่วงนั้นได้รับความสนใจจากนักลงทุนบ้าง แต่มักมีปัญหาในเรื่องความเข้าใจที่ถูกต้องของทั้งแฟรนไชส์ซอร์ที่เป็นเจ้าของสิทธิ์และแฟรนไชส์ซีที่เข้ามาซื้อสิทธิ์ เช่น กรณีที่แฟรนไชส์ซีทำตัวเป็นผู้ลงทุนที่เน้นทำธุรกิจแบบซื้อเพื่อการลงทุนไม่มีการมองถึงการสร้างธุรกิจตนเอง เมื่อไม่ลงทุนทำเองหรือเอาใจใส่ดูแลไม่ทั่วถึง ก็ทำให้ธุรกิจไปได้ไม่ดีเท่าที่ควรหรือแฟรนไชส์ซอร์หลายรายขายแฟรนไชส์โดยไม่ได้มองหาคนที่ทำจริงๆ เป็นการสร้างระบบธุรกิจที่เข้าใจผิดคิดว่าธุรกิจนั้นสามารถวางรูปแบบของธุรกิจที่จัดจ้างหรือหาคนทำได้    ซึ่งความจริงแล้วธุรกิจแฟรนไชส์ระยะแรกนั้นต้องลงทุนลงมือทำเอง เอาใจใส่เองเสียก่อนที่จะปรับปรุงธุรกิจให้เป็นระบบมากขึ้น และแม้ตัวธุรกิจเองนั้นจะสามารถวางรูปแบบการทำงานด้วยการจัดจ้างทีมงานเข้ามาทำงานก็ตาม เจ้าของที่ลงทุนก็ต้องมีความเข้าใจเป็นอย่างดีและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด
                หลังจากสภาวะเศรษฐกิจซบเซาในช่วงปี พ.ศ.2536 ส่งผลให้ธุรกิจแฟรนไชส์ต่างๆ ได้รับผลเช่น โดมิโนพิซซ่า ป็อบอาย หรือ เช็คกี้ เวนดี้ ที่ประสบปัญหาการขยายตัวและในที่สุดก็ต้องปิดตัวลง ระบบ  แฟรนไชส์ได้รับความนิยมอีกครั้ง คือ ในช่วงปี 2537 ที่มีการเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ก็มีการหยุดการเติบโต เนื่องจากเหตุผลด้านเศรษฐกิจที่ไม่อำนวยต่อการลงทุน และความเข้าใจในเรื่องของการสร้างระบบแฟรนไชส์ของคนไทยเองที่ไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจัง
          จากข้อมูลในช่วงปี 2543 มีธุรกิจร้านสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์ในประเทศไทยที่ยังคงดำเนินการอยู่ประมาณ 120 ธุรกิจ จากที่มีประมาณ 180 ธุรกิจก่อนหน้านั้น โดยร้านระบบแฟรนไชส์ที่เหลืออยู่สามารถแบ่งเป็นประเภทธุรกิจต่างๆ ได้ไม่เกิน 8 ประเภท ได้แก่ ประเภทอาหาร ร้อยละ 34 ประเภทการขายสินค้าเฉพาะอย่าง เช่น ร้านขายยา ร้านเสื้อผ้า ฯลฯ ร้อยละ 20 ประเภทการบริการ เช่น รับจ้างซักรีด รถเช่า        ร้อยละ 18  ประเภทการศึกษา ร้อยละ 17  ประเภทค้าปลีก ร้อยละ 5 และอื่นๆ ร้อยละ 6

          ปัจจุบันถือว่าเป็นช่วงของการสร้างธุรกิจที่เกิดจากบริษัทขนาดกลาง เข้ามาพัฒนาระบบแฟรนไชส์ เพื่อที่จะสร้างร้านจำหน่ายของตนขึ้นในตลาด เสมือนการสร้างช่องทางจัดจำหน่ายของสินค้า โดยกระจายการลงทุนด้วยระบบแฟรนไชส์ ด้วยศักยภาพที่ดีกว่า และสามารถนำเอาความพร้อมขององค์กร ช่วยสร้างระบบงานและการสร้างตราสินค้าได้ดีกว่า ทำให้ระบบเริ่มมีแนวทางที่ดีมากขึ้น แต่ในระยะนี้ก็ยังมีธุรกิจขนาดเล็กที่สร้างความพร้อมของตนเองได้ดีขึ้น ช่วงนี้เป็นช่วงของการเริ่มปรับตัวพร้อมกับมีหน่วยงานต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนในการปรับความเข้าใจในรูปแบบของธุรกิจได้ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ดีต่อการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศ